เปิดธรรมเนียบ 10 “ผู้นำฝ่ายค้าน” ไขข้อข้องใจ เงินเดือนเท่าไหร่ มีหน้าที่อะไร?

เปิดรายชื่อ 10 ผู้นำฝ่ายค้าน ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย พร้อมไขข้อข้องใจ รับเงินเดือนเท่าไหร่ มีหน้าที่อะไรบ้าง?

ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ของ ”ชัยธวัช ตุลาธน” ที่เพิ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอย่างเป็นทางการนั้น เป็นไปตาม มาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกำหนดให้ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน จะต้องพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี, ประธานสภาและรองประธานสภา ในสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้นำฝ่ายค้านเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปี 2517

มีหน้าที่สำคัญคือการเป็นหัวหน้าในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และสิ้นสุดเมื่อพ้นจากการเป็นหัวหน้าพรรค และหรือสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไม่ว่าจะครบวาระ หรือมีการยุบสภาก็ตาม

จากอดีต ถึงปัจจุบัน ประเทศไทย มีผู้นำฝ่ายค้านมาแล้ว รวมทั้งสิ้น 10 คน ประกอบด้วย

  • หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์
  • พลตรีประมาณ อดิเรกสาร พรรคชาติไทย
  • พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่
  • นายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย
  • นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์
  • นายบัญญัติ บรรทัดฐาน พรรคประชาธิปัตย์
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์
  • นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย
  • นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย
  • นายชัยธวัช ตุลาธน พรรคก้าวไกล

ซึ่งในจำนวนนี้จะเห็นว่า ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านบ่อยที่สุดและหลังจากบุคคลที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านแล้ว มีโอกาสเป็น ผู้นำรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรี ถึง 5 คน คือหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช,พลเอกชวลิต ,นายบรรหาร,นายชวน และนายอภิสิทธิ์

เนื่องจากผู้นำฝ่ายค้าน มีความสำคัญ เพราะจะเป็นผู้นำ และตัวแทนของพรรคการเมือง ฝ่ายค้านในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นผู้ประสานแนวนโยบายโดยรวมของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และควบคุมคะแนนเสียงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่พรรคก้าวไกล ต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรค จาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีหุ้นสื่อ ไอทีวี เป็น “ชัยธวัช” พร้อมกับขับ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” รองประธานสภาผู้แทนราษฏรออกจากพรรค เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สำหรับการรักษาตำแหน่งนี้ไว้กับก้าวไกล

โดยตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะมีเงินเดือน ตามเอกสารสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราฎร 2556 คือ เงินเดือนประจำตำแหน่ง 73,240 บาท และเงินเพิ่ม 42,500 บาท รวมเป็น 115,740 บาท เท่ากับ ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และมากกว่า ส.ส.ทั่วไป ซึ่งมีเงินเดือนประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวมเป็น 113,560 บาท แต่น้อยกว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏร ที่มีเงินเดือนประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ความเห็นถูกปิด