อุทยานฯ รับไม่มีงบเยียวยา หนุ่ม 16 ต้มไข่ตกบ่อน้ำพุร้อนฝาง แม่เรียก 5 แสน

หนุ่ม 16 ตกบ่อน้ำพุร้อนฝาง แม่เรียก 5 แสน อุทยานฯ รับไม่มีงบเยียวยา แต่ที่ผ่านมาเยียวยาอย่างเต็มที่แล้ว เผยจุดตกไม่ใช่ที่ที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยว

(11 ธ.ค.66) นางสาวนิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ชี้แจงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กรณีผู้ปกครองออกมาร้องขอความเป็นธรรมให้กับลูกชายวัย 16 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุตกลงไปในบ่อน้ำร้อนภายในอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกบาดเจ็บสาหัส และระบุว่าจนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลาประมาณ 17.20 น.  นายเอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี พร้อมเพื่อน 1 คน เข้ามาเที่ยวภายในบ่อน้ำพุร้อนฝาง อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก นักท่องเที่ยวทั้ง 2 คน ได้นำไข่มาต้มในบ่อน้ำร้อนบริเวณจุดเกิดเหตุ หน้าลานกางเต็นท์ไออุ่น ขณะที่ผู้บาดเจ็บก้มลงเก็บไข่ที่ต้มในบ่อ เกิดอุบัติเหตุราวกันตกหักและพลัดตกลงไปในบ่อน้ำร้อนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ 

โดยนักท่องเที่ยวรายดังกล่าวเข้ามาท่องเที่ยวบริเวณน้ำพุร้อนฝาง ในเวลาประมาณ 17.20 น. ซึ่งเป็นนอกเวลาทำการ และ อุทยานแห่งชาติได้ปิดด่านเก็บค่าบริการผ่านเข้าแล้ว จึงมิได้มีการชำระค่าบริการผ่านเข้า และ เวลาดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่เวรยามเวลากลางคืนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ เห็นนักท่องเที่ยวทั้ง 2 รายดังกล่าวขับรถจักรยานยนต์เข้าไป แต่เนื่องจากเห็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวท้องถิ่น และเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้วคงใช้เวลาไม่นานจึงไม่ได้ห้าม ซึ่งกรณีที่นักท่องเที่ยวท้องถิ่นเข้ามาพักผ่อนหรือออกกำลังกายหลังเวลาทำการลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ

นักท่องเที่ยวรายดังกล่าวได้เข้าไปในเส้นทางเดินโซนลานกางเต็นท์ไออุ่น ซึ่งอยู่ด้านหลังอาคารสโมสร (โรงครัว) และจะผ่านบ่อน้ำร้อนบริเวณจุดเกิดเหตุ โดยจะอยู่ระหว่างทางเดินเท้าที่อุทยานฯ ได้จัดทำไว้เพื่อเข้าไปชมบ่อน้ำพุร้อนบริเวณกลางโป่ง แต่บริเวณจุดเกิดเหตุไม่ใช่จุดที่อุทยานฯ จัดเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวสำหรับกิจกรรมต้มไข่ จึงได้จัดทำราวกั้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวทราบว่าเป็นจุดอันตรายและป้องกันอันตรายมิให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใกล้บริเวณดังกล่าว ส่วนจุดที่อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมไว้สำหรับกิจกรรมต้มไข่อยู่บริเวณกลางโป่ง ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร และมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับกิจกรรมดังกล่าวอย่างเหมาะสมและปลอดภัย 

ราวกันตกบริเวณจุดเกิดเหตุ มีลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และอุทยานฯ ได้มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากมีการปั้นปูนคล้ายไม้หุ้มเหล็กด้านใน ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นว่าเหล็กภายในถูกกัดกร่อน (โดยเมื่อเกิดเหตุและราวดังกล่าวหักลงจึงได้เห็นว่าเหล็กภายในมีสภาพผุกร่อนเนื่องจากได้รับไอร้อนและกำมะถันตลอดเวลา) เมื่อผู้บาดเจ็บทิ้งน้ำหนักตัวเพื่อโน้มลงไปเก็บไข่ที่ต้มไว้ในบ่อจึงไม่สามารถรับน้ำหนักตัวของผู้บาดเจ็บได้ ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 80 – 90 กิโลกรัม 

หลังจากเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ได้เข้าเยี่ยมพร้อมมอบเงินให้ผู้ปกครองนำไปใช้ในระหว่างที่ผู้บาดเจ็บต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำนวน 10,000 บาท และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ได้มอบให้อีกครั้งเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท รวม 20,000 บาท ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ยังได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล กระทั่งเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ทราบว่าผู้บาดเจ็บได้กลับมารักษาตัวที่บ้าน 

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้เข้าพบผู้ปกครองและเยี่ยมผู้บาดเจ็บอีกครั้งที่บ้าน พร้อมได้นำเงินเพื่อเยียวยาผู้บาดเจ็บ เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท โดยอธิบายให้ผู้ปกครองทราบว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินส่วนตัวที่ได้รับมอบและสนับสนุนจากผู้บริหารของสำนักบริหารพื้นที่นุรักษ์ที่ 16 แต่เนื่องจากผู้ปกครองเห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไปจึงไม่ขอรับไว้ และหัวหน้าอุทยานฯ ได้อธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าไม่มีระเบียบราชการที่จะสามารถนำเงินส่วนอื่นมาใช้ในการเยียวยากรณีดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม ได้สอบถามผู้ปกครองว่าต้องการจำนวนเท่าใดที่ผู้ปกครองเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งในวันดังกล่าวผู้ปกครองขอกลับไปคิดและปรึกษากันในครอบครัว หากทราบจำนวนเงินที่ต้องการแล้วจะแจ้งหัวหน้าอุทยานฯ ทราบ ต่อไป หลังจากนั้น หัวหน้าอุทยานฯ ก็ไม่ได้รับจากติดต่อกลับจากครอบครัว ซึ่งต่อมาหัวหน้าอุทยานฯ ได้โทรศัพท์กลับไปพูดคุยกับผู้ปกครองอีกครั้งจึงได้ทราบว่า ผู้ปกครองต้องการเงินเยียวยาไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท และทราบว่าได้นำเรื่องไปร้องเรียนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานฯ ได้อธิบายถึงระเบียบของทางราชการเรื่องเงินเยียวยาอีกครั้ง และนำข้อมูลดังกล่าวกลับไปนำเรียนผู้บังคับบัญชาอีกครั้งเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป กระทั่งปรากฎเป็นข่าวตามสื่อ เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์ 086 428 1429

ความเห็นถูกปิด