ส่องเส้นทาง ศิริกัญญา ตันสกุล จากเนิร์ดการเงิน สู่สนามอารมณ์นางแบก
หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับพรรคก้าวไกล เมื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เมื่อเช้าวันศุกร์ (15 ก.ย.) ก็มีหลายชื่อปรากฏขึ้นมาว่าอาจเป็นตัวเต็งที่จะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ หนึ่งในนั้น คือ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล หรือไหม รองหัวหน้าพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ
วิกฤตต้มยำกุ้งจุดชนวนความสนใจเศรษฐกิจ
ไหม ศิริกัญญา มักอภิปรายเรื่องเศรษฐกิจในสภาฯ ความเชี่ยวชาญเรื่องดังกล่าว ของ สส. คนนี้เผยกับมติชนออนไลน์ว่า สนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ตอนเรียน ม.6 เพราะปีนั้นคือปี 2540 ที่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง จึงเลือกสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะเศรษฐศาสตร์ของหลายมหาวิทยาลัย ก่อนจะได้มาเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งจบการศึกษาที่นี่ทั้งระดับปริญญาตรีและโท
หลังจากนั้นยังคว้าปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์อีกใบหนึ่งจากมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส
การให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ นางสาวศิริกัญญา ยอมรับและกล่าวหลายครั้งว่าตนมีบุคลิกที่ค่อนข้างเป็นเด็กเนิร์ด
นักวิชาการผันสู่นักการเมือง
เว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล ระบุว่า หลังจากจบการศึกษา สส. รายนี้เริ่มเข้าสู่วงการวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ด้วยการทำงานเป็นนักวิจัยให้กับสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อปี 2554 ก่อนไปเป็นผู้จัดการฝ่ายวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ในปีถัดมาจนถึงปี 2559 เมื่อปี 2560 ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด
เส้นทางชีวิตของนางสาวศิริกัญญามาเจอกับความพลิกผันเมื่อเริ่มเข้ามาทำงานการเมืองเมื่อปี 2561 สส. รายนี้ให้สัมภาษณ์ VOICE TV (วอยซ์ทีวี) ว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นคนชักชวนตนมาทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ ทั้งยังเผยอีกว่า การตัดสินใจครั้งจะทำให้กลับไปเป็นนักวิชาการแบบที่เคยเป็นมาได้ยาก
การที่พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ถูกมองว่าเน้นอุดมการณ์และมีนโยบายด้านการเมืองเป็นหลัก จึงถูกปรามาสว่าอาจไม่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจนัก แต่เมื่อนางสาวศิริกัญญาลุกขึ้นอภิปรายตั้งแต่การแถลงนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน ก.ค. 2562 ก็ถูกจับตามองเสมอมาว่าน่าจะเป็นแกนนำด้านเศรษฐกิจคนหนึ่งของพรรคการเมืองนี้
หลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ นางสาวศิริกัญญาก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นรองหัวหน้าพรรค และยังคงความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจตลอด
แฟนคลับเพื่อไทยรุมสับศิริกัญญา-นโยบายก้าวไกล
อย่างไรก็ดี ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 พรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นพรรคคู่แข่งในฝั่งต่อต้านระบอบประยุทธ์ ก็พยายามผลักดันนโยบายเศรษฐกิจขึ้นมาโน้มน้าวให้ผู้คนลงคะแนนให้ และทำให้เกิดดาวเด่นด้านเศรษฐกิจอีกคนขึ้นมา คือ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล
การดีเบตด้านเศรษฐกิจที่มติชนทีวีจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ปีเดียวกัน นางสาวศิริกัญญาให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรเปลี่ยนโครงสร้างด้านการกระจายรายได้ให้กับคนทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรมมาเป็นความสำคัญอันดับแรก เช่น การทำรัฐสวัสดิการ หรือเก็บภาษีคนรวย แล้วจึงทำให้เศรษฐกิจโต นายเผ่าภูมิที่ไปดีเบตเวทีนี้ด้วย มองต่างออกไป และกล่าวว่าควรทำให้ “เค้ก” โตก่อน แล้วค่อยมาแบ่งกัน
ความเห็นในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มองว่า นโยบายดังกล่าวของพรรคก้าวไกลเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจพังได้ในระยะยาว เพราะใช้เงินมาก และอาจทำให้นักลงทุนที่เกรงว่าจะต้องจ่ายภาษีคนรวยย้ายสินทรัพย์หรือเปลี่ยนการลงทุนไปยังประเทศอื่นแทน
ขณะเดียวกัน ผู้ที่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล แย้งว่า นโยบายหวย SME ที่นางสาวศิริกัญญานำมาเสนอในการดีเบตนั้นจะทำให้เศรษฐกิจแกร่งได้จริง เพราะจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นรากฐานสำคัญเติบโต
นางแบกจวกไม่เหมาะเป็นรัฐมนตรีคลัง
หลังการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลคว้าเก้าอี้ สส. เป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 151 เสียง หลายฝ่ายจึงคาดว่านางสาวศิริกัญญาจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ แต่ผู้ที่ไม่ชื่นชอบพรรคก้าวไกล และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่เรียกตัวเองว่า “นางแบก” มักวิจารณ์คุณสมบัติและความเชี่ยวชาญของนางสาวศิริกัญญาว่าไม่คู่ควรกับตำแหน่งนี้ จนเรียกได้ว่ากลายเป็นสนามอารมณ์เลยทีเดียว
หลายความเห็นโจมตีว่า มีประสบการณ์การทำงานแต่สายวิชาการ เคยทำงานกับบริษัทใหญ่แค่ 1 ปี และอีกหลายความเห็นวิจารณ์ว่างานรัฐมนตรีที่กระทบกับชีวิตคนจำนวนมาก ไม่ใช่ตำแหน่งที่ใครจะมาทดลองงาน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ประสบความสำเร็จ รายชื่อคณะรัฐมนตรีที่มีการเปิดเผยออกมาก็ถูกวิจารณ์ไม่น้อย เช่น พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทยที่เคยเป็นตำรวจ แต่ได้มาบริหารกระทรวงศึกษาธิการ หรือแม้แต่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่าคนเหล่านี้ได้ทำงานในสิ่งที่มีความเชี่ยวชาญหรือไม่ ทั้งยังมีหลายเสียงนำไปเปรียบเทียบว่ากลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยวิจารณ์กรณีนี้เหมือนที่วิจารณ์นางสาวศิริกัญญาแล้วหรือยัง
ไม่ใช่แค่นั้น คลิปหาเสียงที่นางสาวศิริกัญญาแสดงบทบาทสมมติเป็นแม่บ้านและเด็กทารกยังถูกนำมาวิจารณ์ถึงความน่าเชื่อถือด้วย
มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่าคำวิจารณ์เหล่านี้อาจไม่ต่างจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักการเมืองหญิงอีกหลายคนได้รับ ในทางกลับกันบรรดานักการเมืองชายที่ถึงแม้ไม่รู้ว่าเคยเป็นใครหรือผ่านอะไรมามักไม่ตกเป็นเป้าวิจารณ์มากเท่า
ความเห็นถูกปิด