สส.โรม ตอบเอง “พิธา” พูดปฐมนิเทศ จิตวิญญาณ มธ. คือความ “อยู่ไม่เป็น” หมายถึงอะไร

สส.โรม ตอบเอง พูดปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ มธ. ทำไมต้องเป็น “พิธา” อธิบายชัดวลี อยู่เป็นโลกไม่เปลี่ยน หมายถึงอะไร?

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในประเด็น สิ่งที่ “พิธา” พูดในเวทีธรรมศาสตร์ คือสิ่งที่ประชาชนล้วนพึงมีใน “การเมืองแบบปรกติ

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นแขกรับเชิญพิเศษในฐานะศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2566 โดยได้ร่วมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรม: 3 เสาหลักจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ สู่การสร้างสรรค์สังคม” ให้แก่ “เพื่อนใหม่” ชาวธรรมศาสตร์ทุกๆ คน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงต้องเป็นคุณพิธา ซึ่งสถานะขณะนี้เป็นเพียง ส.ส. คนหนึ่งที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ที่ได้รับเชิญไปพูดในงานดังกล่าว? ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะว่าถ้าตอนนี้ประเทศไทยเรามีการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบปรกติ คุณพิธาที่ได้รับการเสนอชื่อจาก 8 พรรค 312 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร คงได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไปแล้ว และมันคงไม่แปลกอะไรที่มหาวิทยาลัยจะอยากเชิญศิษย์เก่าที่เป็นนายกรัฐมนตรีไปร่วมแสดงทรรศนะบางอย่างแก่นักศึกษาใหม่บ้าง

ผมคิดว่านี่คือหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยโหยหาที่จะกลับสู่การเมืองแบบปรกติจริงๆ เสียที นี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตติขอให้รัฐสภาทบทวนการวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะกระทำซ้ำมิได้ เป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้รัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพิสดารอยู่ในระบบกฎหมายและโครงสร้างอำนาจมากเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะกลับมาเดินหน้าประเทศอย่างตรงไปตรงมาสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ เสียที

หรือแม้แต่สิ่งที่คุณพิธากล่าวต่อนักศึกษาใหม่ในครั้งนั้น ว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” คือความ “อยู่ไม่เป็น” นั่นคือความเชื่อมั่นตลอดเวลาว่าคุณสามารถเป็นในสิ่งที่อยากเป็นได้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ ไม่ว่าจะเรียนวิศวะ บัญชี แพทย์ หรือคณะอะไรก็ตาม สามารถร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรมที่ดียิ่งขึ้นกว่านี้ได้ สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนพึงมี พึงคิด พึงทำได้ในการเมืองแบบปรกติมิใช่หรือ?

สุดท้ายนี้ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์เช่นกัน ขอฝากไปยังเพื่อนใหม่ (ตลอดจนถึงเพื่อนนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบัน) ทุกท่านเสริมจากคุณพิธาด้วยว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เรียกร้องให้ต้องอยู่แต่กับเรื่องใหญ่ๆ ระดับประเทศเท่านั้น เพราะแม้แต่ภายในรั้วมหาลัยก็อาจมีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ลองเริ่มต้นจากการสำรวจ “สังคม” และ “การเมือง” ที่อยู่ในผู้คนรอบๆ ตัวท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาด้วยกันเอง อาจารย์ บุคลากรเจ้าหน้าที่ ตลอดไปจนถึงพ่อค้าแม่ขายและคนในชุมชนรอบๆ ผมเชื่อว่าชีวิตมหาลัยของพวกท่านจะสนุกและมีสีสันมากขึ้นไม่น้อยเลยครับ

 

ความเห็นถูกปิด