สส.แบงค์ นำทัพก้าวไกล แถลงฟาด 10 ข้อเนื้อเน้นๆ ผังเมือง กทม.ใหม่ กระจุกความเจริญ

ก้าวไกล แถลง 10 ข้อสังเกต ผังเมือง กทม.ใหม่ สะท้อนปัญหาการพัฒนาแบบกระจุกความเจริญ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนด

สส. และ ส.ก. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล นำโดย นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์, นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ แถลงข้อเสนอและข้อสังเกต 10 ประการ กรณีการจัดทำผังเมืองฉบับใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้

  1. การรับฟังความคิดเห็น ในวันพรุ่งนี้ (6 ม.ค. 67) เวลา 9.00 น. เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างมาก เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงร่างผังเมืองฉบับที่สมบูรณ์ที่ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น
  2. การกำหนดผังสี โดยไม่มีหลักการและไร้ทิศทาง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผังเมืองกรุงเทพมหานครในร่างปรับปรุงครั้งนี้ เป็นเพียงการเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวรถไฟฟ้า และการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่การวางผังเพื่อชี้นำความเจริญและกำหนดอนาคตเมือง แต่เป็นการวางผังหลังจากที่เมืองเจริญไปก่อนแล้ว และปรับผังตามการเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทาง
  3. การเปลี่ยนแปลงพื้นที่อนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรม (ผังสีเขียว) ซึ่งฝั่งตะวันตก อาทิ เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน ที่เคยกำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่รับน้ำนั้นถูกตัดหายไป แต่มีการปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เจริญขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลายพื้นที่ ซึ่งกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกที่ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยส่วนใหญ่จะยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น
  4. ไม่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดในการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองกรุงเทพฯ และไม่ได้มีการวางแผนร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับ ปริมณฑลอย่างมียุทธศาสตร์ หรือมีหลักการและเหตุผลประกอบ ในบางพื้นที่มีความย้อนแย้งตรงรอยต่อ อาทิ รอยต่อ กรุงเทพ-สมุทรปราการ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการพัฒนา
  5. เรื่อง FAR Bonus (สิทธิพิเศษในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผังเมืองกำหนด) ร่างผังเมืองปัจจุบัน มีการกำหนดมาตรการจูงใจเอกชนแลกกับ FAR Bonus ในรูปแบบต่าง ๆ
  6. ปัญหาความไม่สอดคล้องของแผนคมนาคม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้สอดคลองกับแนวทางระบบคมนาคมโดยรวม
  7. ผังสีขาว (ที่ดินทหาร )ในร่างผังเมืองฉบับนี้ ยังคงไว้ซึ่งมีอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 12,900 ไร่ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากจึงควรจะนำมาพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า
  8. การกำหนดพื้นที่สีแดง สำหรับการพาณิชย์อย่างไม่มีหลักการเพราะกระจายตัวอยู่บนพื้นที่ของเหล่านายทุน ไม่สอดคล้องกับแผนผังการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อย
  9. ผังพื้นที่โล่ง/พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งในด้านการใช้ งานอเนกประสงค์ และการรับน้ำ ให้กับพื้นที่ในเมือง ซึ่งร่างผังเมืองฉบับนี้ได้นับรวมพื้นที่เอกชน อาทิ สนามกอล์ฟ เข้าไปด้วย เป็นการขัดแย้งต่อเงื่อนไขการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด
  10. สภาพปัญหาของกรุงเทพ คือ การกระจุกความเจริญ โดยร่างผังเมืองปัจจุบันไม่ได้แก้ไขปัญหาลดความแออัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่อย่างใด และไม่มีการกระจายความเจริญอย่างมีแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น จากวันนี้ จนถึงวันที่ 22 ม.ค. 67 จะมีการ รับฟังความคิดเห็น รวบรวมสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะ รวมทั้งข้อเสนอแนะ 10 ข้อดังกล่าวนี้ เพื่อส่งไปยังสำนักการผังเมือง และคณะกรรมการผังเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ความเห็นถูกปิด