มาแล้ว! สส.โรม ชำแหละ “ประชามติรัฐธรรมนูญ” ที่อ้างว่า 16 ล้านคนเห็นชอบ
สส.โรม ชำแหละ “ประชามติรัฐธรรมนูญ” โอกาสครบ 7 ปี ไม่เสรี ไม่เป็นธรรม ไม่จริงใจ อ้างว่า 16 ล้านคนเห็นชอบ
นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในประเด็น “7 ปี ประชามติรัฐธรรมนูญ: ไม่เสรี ไม่เป็นธรรม ไม่จริงใจ ต้องแก้ไขได้”
วันนี้ (7 สิงหาคม) ครบรอบ 7 ปี การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นโดยฝ่ายคณะรัฐประหาร คสช. ซึ่งกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ในสภามีวาระการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะโดย ส.ส. เสนอเอง หรือมีประชาชนเข้าชื่อเสนอมา มักมีผู้กล่าวอ้าง (ในทางที่คัดค้านความพยายามแก้ไขนั้น) อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติเห็นชอบจากประชาชนกว่า 16 ล้านคน ซึ่งผมขอย้ำไว้อีกครั้งว่าข้ออ้างเช่นนี้ไม่ใช่แค่ควรเลิกอ้าง แต่ไม่ควรอ้างขึ้นมาตั้งแต่แรกเลยด้วยซ้ำ
นั่นก็เพราะว่าประชามติครั้งนั้น “ไม่เสรี” เนื่องจาก คสช. ได้ใช้ทั้งคำสั่งตามมาตรา 44 (ห้ามชุมนุม 5 คนขึ้นไป) และ พ.ร.บ.ประชามติในการห้ามรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้ที่รณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญถูกจับกุมและดำเนินคดีถึง 212 คน หนึ่งในนั้นคือผมเอง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังจับกุมขณะที่ออกไปแจกเอกสารรณรงค์ Vote NO รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปลงทะเบียนใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขตของตัวเอง ที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559
มากไปกว่านั้น ประชามติครั้งนั้นยัง “ไม่เป็นธรรม” เพราะในขณะที่ฝ่ายประชาชนที่ออกมารณรงค์คัดค้านต้องถูกดำเนินคดีดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่เมื่อหันไปดูทางฝ่ายสนับสนุนนั่นคือ คสช. และ กรธ. กลับสามารถโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างอิสระ มีทั้งงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลในการตีพิมพ์เอกสารออกมาอวยแต่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างขึ้นมา มีทั้งกำลังคนจากหน่วยงานราชการคอยแจกจ่ายเอกสารและเผยแพร่ข้อมูลตามที่ตัวเองต้องการ โดยไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น
และนอกจากนี้ ประชามติครั้งนั้นยังเป็นประชามติที่ “ไม่จริงใจ” เมื่อไปดูในส่วนของ “คำถามพ่วง” ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน คำถามพ่วงนั้นเขียนโดยใช้ข้อความที่คลุมเครือว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาปกปิดอำพรางเนื้อแท้ไม่ให้ประชาชนเข้าใจได้โดยง่าย ยิ่งเมื่อไปดูเอกสารโฆษณาต่างๆ ที่ตีพิมพ์ขึ้นมา ก็แทบไม่มีการกล่าวถึงคำถามพ่วงนี้เลย ในส่วนเท่าที่พบเจอก็ยังอธิบายแบบเฉไฉไม่ตรงไปตรงมา รวมถึงไม่มีการพูดถึงด้วยว่า ส.ว. ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ใน 5 ปีแรกนั้นมาจากการเลือกของ คสช. คำถามพ่วงที่ตั้งขึ้นมานี้ส่อพฤติกรรมไม่ยอมแจ้งข้อมูลให้กระจ่าง พยายามสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนหวังให้คนอื่นมาตกหลุมพรางการสืบทอดอำนาจของฝ่ายคณะรัฐประหารเอง
ทั้ง 3 ข้อนี้คือเหตุผลว่าทำไมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงไม่เคยมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย และสมควรอย่างยิ่งที่จะถูกแก้ไขเนื้อหาอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว โดยก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลได้ยื่นแก้รัฐธรรมนูญเพื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยกเลิกอำนาจเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ซึ่งขัดหลักประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัดที่สุดแล้ว และสามารถแก้ได้อย่างรวดเร็ว
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ว. ทั้งหลายที่เคยบอกว่าต้องการปิดสวิตช์ตัวเอง เคยงดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกฯ ที่ผ่านมา รวมถึง ส.ส. จากทุกพรรคการเมือง รวมถึงพรรครัฐบาลเดิมด้วย ผู้ซึ่งล้วนมีที่ยืนในสังคมได้ก็เพราะพี่น้องประชาชน และที่ผ่านมาหลายพรรคก็เคยโหวตยกเลิกมาตรา 272 มาแล้ว จะมาร่วมกันเห็นชอบการแก้รัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว. ในครั้งนี้ด้วย อย่าหาข้ออ้างข้างๆ คูๆ ใดๆ มาทำลายอำนาจประชาชนอีกเลยครับ
ความเห็นถูกปิด