ตำนานต้น “พอยน์เซตเทีย” ชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อชายคนหนึ่ง สู่สัญลักษณ์เทศกาลคริสต์มาส
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ “อิน” กับแทบทุกเทศกาลเฉลิมฉลอง แน่นอนว่าล่วงเข้าเดือนธันวา หลายที่ก็เริ่มดำเนินการแปรสภาพพื้นที่ของตัวเองให้เข้ากับเทศกาลคริสต์มาสกันแล้ว โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั้งหลาย ต่างประดับประดาอาคารสถานที่ต่าง ๆ ด้วยแสงไฟ ต้นคริสต์มาส และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล
ในบรรดาข้าวของที่เอามาประดับตกแต่งกัน เชื่อว่านอกจากข้าวของสุดคลาสสิกอย่างต้นคริสต์มาส และไฟกระพริบที่ทุกคนต่างคุ้นชิน ตามทางเข้าอาคารหรือซุ้มเทศกาล มักจะมีต้นไม้ขนาดกระทัดรัดวางเรียงรายอยู่ตามแต่เจ้าของสถานที่จะออกแบบ มันเป็นต้นไม้ที่เหมือนกับหลุดออกมาจากขั้วโลกเหนือ ไม่ก็บ้านซานต้า ด้วยใบสีเขียวแดงเข้าธีมเทศกาล และรูปทรงพุ่มที่ดูคล้ายดาวกระจายหรือพลุ ยิ่งเหมาะสมกับวันคริสต์มาสมากขึ้นไปอีก
หากคุณผู้อ่านลองสังเกตดูดีๆ ก็จะพบเห็นเจ้าไม้ประดับชนิดนี้ถูกตั้งวางอยู่แทบทุกที่ในช่วงปลายปี และที่ประหลาดกว่านั้นคือ พ้นช่วงปีใหม่ไปไม่นาน เจ้าไม้ชนิดนี้ก็จะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ชนิดที่หาตามตลาดต้นไม้ก็แทบจะไม่มีให้เห็น
ท้ายที่สุดของความแปลกคือ ผู้คนดันเรียกเจ้าไม้ประดับชนิดนี้ว่า “ต้นคริสต์มาส” เช่นเดียวกับต้นคริสต์มาสฉบับดั้งเดิมที่เป็นต้นสนเสียอย่างนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนมากไปกว่านี้ ผมขอเรียกชื่อพืชสายพันธุ์นี้ว่า “พอยน์เซตเทีย” (Poinsettia) ตามชื่อสามัญภาษาอังกฤษนะครับ
ถ้าเจาะลึกลงไปให้ถึง “ราก” (Puns not intended) ผมเองได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์การปลูกพอยน์เซตเทียมาพอสมควร สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการลองเล่นพืชประจำเทศกาลชนิดนี้ย่อมเพียงพอจะมาเล่าสู่กันฟัง
- ความเป็นมาของพอยน์เซตเทีย
คนส่วนใหญ่คงคิดว่าพืชชนิดนี้น่าจะมีถิ่นกำเนิดในเขตภูมิประเทศที่หนาวเย็น อ้างอิงได้จากความสัมพันธ์ระหว่างเทศกาล ฤดูหนาว และการปรากฏตัวอย่างกว้างขวางของพืชชนิดนี้ในช่วงปลายปีของไทย แต่ต้นพอยน์เซตเทียกำเนิดในแถบประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง เช่น ประเทศคอสตาริก้า และกัวเตมาลา บริเวณที่ราบสูงที่อากาศมีความเย็นในระดับหนึ่ง
ด้วยความที่เป็นพืชพื้นถิ่นใน ‘โลกใหม่’ ซึ่งก็คือดินแดนในทวีปอเมริกา ต้นพอยน์เซตเทียจึงถูกค้นพบและบันทึกเป็นสายพันธุ์อย่างเป็นทางการหลังจากที่ทีมนักสำรวจจากยุโรปได้เข้าไปถึงในบริเวณที่พืชพันธุ์นี้กระจายพันธุ์อยู่ในปี ค.ศ. 1834 และผู้ที่ตั้งชื่อสายพันธุ์พืชชนิดนี้คือ นักพฤกษศาสตร์สัญชาติเยอรมันนาม Johann Friedrich Klotzsch
ภารกิจสำรวจเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1803 – 1804 นำโดย Alexander von Humboldt และ Aimé Bonpland (ประมาณ 30 ปีก่อนหน้าการระบุชนิดพันธุ์) นับเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บตัวอย่างต้นพอยน์เซตเทียในรูป Holotype แล้วส่งกลับไปเพื่อศึกษาค้นคว้าต่อในยุโรป นอกจากการถูกบันทึกลงในฐานข้อมูลทางพฤกษศาสตร์แล้ว ต้นพอยน์เซตเทียแทบจะไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ ได้เลย และน้อยคนมากที่จะรู้ถึงการมีอยู่ของพืชชนิดนี้ แต่ทั้งหมดนี้กำลังจะเปลี่ยนไปในไม่ช้า
- ต้นคริสต์มาสที่ไม่ใช่ต้นคริสต์มาส
ขอพาไปรู้จักสุภาพบุรุษนาม Joel Roberts Poinsett เป็นถึงทูตของสหรัฐอเมริกาประจำประเทศเม็กซิโกในช่วงปี ค.ศ. 1825 – 1829 แต่ที่สำคัญคือเขาเป็นนักพฤกศาสตร์ตัวยงที่มีงานอดิเรกในการเก็บสะสมพรรณพืช ชื่อ “พอยน์เซตเทีย” ถูกตั้งจากนามสกุล Poinsett (พอยน์เซต) เพื่อเป็นเกียรติให้เขา
Joel เริ่มส่งต้นพอยน์เซตเทียจากเม็กซิโกกลับไปยังเรือนกระจกส่วนตัวแสนอบอุ่นของเขาในรัฐเซาท์แคโรไลนา ช่วงนั้นต้นพอยน์เซตเทียมีชื่อเล่นว่า Mexican flame flower หรือ painted leaf แปลเป็นไทยว่า ต้นเปลวเพลิงเม็กซิกัน และต้นใบสี มีที่มาจากสีของใบประดับที่แดงฉานขัดกับความเขียวของใบธรรมดา ไม่นานชื่อเหล่านี้ก็ถูกตีตกไปและชื่อพอยน์เซตเทีย ก็ได้ขึ้นแท่นกลายเป็นชื่อสามัญของพืชชนิดนี้ไปในที่สุด
ด้วยความที่นาย Joel นั้นสนใจเจ้าต้นพอยน์เซตเทียอย่างแรงกล้า เขาจึงส่งตัวอย่างพืชไปให้คนรู้จักและสวนพฤกศาสตร์ทั้งหลายเพื่อทำการปลูกและขยายพันธุ์ต่อ ตัวอย่างพืชได้เดินทางไปถึงฟิลาเดเฟีย ซึ่งเพื่อนของ Joel ที่ชื่อว่า John Bartram ได้นำเอาต้นพอยน์เซตเทียไปจัดแสดงในงานเทศกาลดอกไม้ครั้งที่หนึ่งของเมือง (บางหลักฐานมีการระบุว่า พืชชนิดนี้ถูกจัดแสดงในงาน Pennsylvania Horticultural Society ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1829 โดยนาย Robert Carr)
ด้วยความโดดเด่นของพืชและสายตาแมวมองของผู้เชี่ยวชาญต้นไม้ในวงการ ไม่นานนักชายชื่อ Robert Buist จึงได้นำเอาต้นไม้ชนิดนี้มาวางขายเป็นไม้ประดับ เพราะสีสันอันโดดเด่นของมัน ว่ากันว่าเขานี่แหละเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกในการทำตลาดให้ต้นพอยน์เซตเทียอย่างจริงจัง
กลายเป็นว่าพอยน์เซตเทียฮิตติดลมบนในฐานะไม้ประดับในเวลาไม่นาน ก่อนค่อยๆ ผสมผสานกลมกลืนเข้าไปกับวัฒนธรรมตะวันตกและศาสนาคริสต์ในช่วงปี ค.ศ. 1900 ด้วยความโดดเด่นของสีและลักษณะที่กะทัดรัดพอที่จะปลูกลงในกระถางได้ ในช่วงแรกมีการตัดเอาเฉพาะส่วนดอก (ซึ่งจริง ๆ คือยอดของพืช) มาวางขายไม่ต่างจากไม้ดอกสำหรับปักแจกัน แต่เทรนด์นี้ค่อยๆ หายไป และถูกแทนที่ด้วยการวางขายพืชเป็นต้นๆ ไปเลย เพราะความสะดวกในการขนส่ง และลูกค้าเองก็สามารถนำต้นไม้ไปปลูกได้แบบสบาย ๆ โดยไม่ต้องห่วงว่ายอดไม้จะเน่าคาแจกันในเวลาไม่นาน
ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุให้ต้นพอยน์เซตเทียได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ด้วยความที่หลายคนเชื่อมโยงสีของพืชเข้ากับธีมของเทศกาลเอง เช่น สีแดงของใบประดับเปรียบเสมือนโลหิตของพระเยซู ใบสีเขียวหรือขาวแทนความบริสุทธิ์ และรูปทรงยอดที่กระจายออกก็มีลักษณะคล้ายดวงดาวแห่ง Bethlehem (หรือดาวคริสต์มาส) ทำให้พืชต่างถิ่นชนิดนี้ใช้เวลาไม่ถึงร้อยปี ยกระดับความนิยมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของศาสนาคริสต์ ด้วยลักษณะทางกายภาพของมันโดยแท้จริง
ส่วนในประเทศเม็กซิโกเองก็มีตำนานเล่าขานย้อนกลับไปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่า มีหญิงสาวที่ยากจนนาม Pepita หรือ María ต้องการหาของขวัญไปให้กับพระเยซูในวันคริสต์มาส แต่เธอไม่เหลือเงินมากพอที่จะหาซื้อของขวัญที่มีราคาหรือมีความสวยงามเทียบเท่าคนอื่นได้ Pepita รู้สึกเศร้าใจมาก แต่ยังคงพยายามจะหาของขวัญให้ได้ บ้างว่าเธอได้รับคำแนะนำจากนางฟ้า ไม่ก็ญาติของเธอนาม Pedro ซึ่งกล่าวว่า “ของขวัญนั้นไม่ว่าจะเล็กน้อยขนาดไหน หากให้ด้วยใจรักจริงย่อมมีคุณค่าเสมอ”
เมื่อ Pepita ได้ยินดังนั้น เธอจึงตัดสินใจเก็บเอาวัชพืชและต้นไม้ริมทางเท่าที่จะหาได้มาห่อเอาเป็นช่อดอกไม้ให้สวยที่สุด ก่อนจะนำไปมอบให้บนแท่นอธิษฐานในโบสถ์ เธอเองยังคงรู้สึกอับอายอยู่ที่ของขวัญของเธอนั้นดูเล็กน้อยมาก แต่ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ช่อวัชพืชนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์แปรเปลี่ยนกลายเป็นต้นพอยน์เซตเทียที่สวยงามในที่สุด (ส่งผลให้ในเม็กซิโกมีการเรียกชื่อเล่นของพืชชนิดนี้ว่า Flores de Noche Buena หรือ Flowers of the Holy Night แปลเป็นไทยว่า ดอกไม้แห่งค่ำคืนอันศักดิ์สิทธิ์)
ตำนานเรื่องนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันในสังคมเม็กซิโกมากขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 พอศาสนาคริสต์เริ่มหยั่งรากลึกในสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ต้นพอยน์เซตเทียจึงถูกใช้ประดับเทศกาลมานับแต่นั้น
- ต้นคริสต์มาสที่มาจากการตลาด
ในปัจจุบันการปลูกและขายต้นพอยน์เซตเทียได้กลายเป็นธุรกิจไม้ประดับประจำฤดูที่มีความสำคัญมากในตลาดผู้บริโภค พอยน์เซตเทียจึงเป็นทั้งสินค้าและตราสัญลักษณ์ของเทศกาลคริสต์มาสในระดับโลกไปโดยปริยาย
ในตลาดใหญ่อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ธุรกิจนี้มีคู่แข่งไม่ค่อยเยอะ เพราะลำพังตระกูล Ecke เจ้าแห่งการปลูกและส่งออกต้นพอยน์เซตเทียก็กุมส่วนแบ่งตลาดไปแล้วถึง 70% (หรือกว่าครึ่งในตลาดโลก) ซึ่งเสาหลักที่ทำให้ต้นไม้ชนิดนี้กลายเป็นของคู่กันกับวันคริสต์มาสก็เป็นฝีมือของตระกูล Ecke นี่เอง
ทั้งหมดเริ่มมาจาก Albert Ecke ชาวเยอรมันที่ย้ายมาทำสวนและฟาร์มโคนมในลอสแอนเจลีส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 หลังจากที่ต้นพอยน์เซตเทียถูกนำเข้ามาแล้วกว่า 70 ปี Albert ชื่นชอบความสวยงามและโดดเด่นของต้นพอยน์เซตเทียมาก แต่ในยุคนั้นผู้คนยังมองว่าต้นไม้ชนิดนี้เป็นแค่ไม้ประดับธรรมดาๆ ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร และถึงจะมีการใช้ตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาสบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่จุดเด่นของเทศกาลเฉกเช่นปัจจุบัน
เมื่อเห็นช่องโหว่ในตลาดที่รออยู่แล้ว Albert จึงเริ่มนำพอยน์เซตเทียมาวางขายอย่างจริงจังในร้านต้นไม้ริมถนนของเขา จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์มาถึงในรุ่นลูกของ Albert เมื่อลูกชายนาม Paul Ecke นำเอาความรู้ด้านพฤกษศาสตร์มาทำการปรับปรุงพันธุ์ ด้วยการต่อกิ่งเพื่อให้ยอดของต้นพอยน์เซตเทียสวยงามและมีรูปทรงที่เป็นพุ่มมากกว่าพอยน์เซตเทียที่ปลูกกันทั่วไป ซึ่งมักจะแตกกิ่งออกไปในหลาย ๆ ทิศทาง วิธีนี้ทำให้ต้นไม่ของตระกูล Ecke สามารถตีตลาดได้อย่างเต็มที่
แต่ท้ายที่สุด รุ่นหลานของตระกูลนำโดย Paul Ecke Jr. สามารถตีตลาดแตก ทำให้ต้นพอยน์เซตเทียกลายเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลคริสต์มาสได้สำเร็จ เขาเปลี่ยนระบบกระจายสินค้าจากการส่งต้นไม้ทั้งต้นทางรถไฟเป็นการส่งยอดและกิ่งสำหรับปักชำทางเครื่องบิน ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี แต่ Paul Jr. ไม่หยุดแค่นั้น เขาต่อยอดการตลาดไปอีกขั้นโดยส่งต้นพอยน์เซตเทียให้สถานีโทรทัศน์ไปแบบฟรีๆ เพื่อใช้ประดับในเทศกาลคริสต์มาสทุกปี และไปออกรายการทอร์คโชว์ชื่อดังอย่าง The Tonight Show เพื่อโฆษณาสินค้าอีกด้วย วิธีนี้เป็นการตอกเสาเข็มต้นสุดท้ายและผูกต้นพอยน์เซตเทียเข้ากับเทศกาลคริสต์มาสไปโดยสมบูรณ์
ดังนั้นในปี ค.ศ. 1990 ต้นพอยน์เซตเทียที่วางขายในตลาดแทบจะ 100% จึงมาจากตระกูล Ecke เรียกได้ว่าเป็นระบบผูกขาดในรูปธุรกิจครอบครัวเลยก็ว่าได้
แต่เรื่องเล่านี้มีจุดหักมุมนิดหน่อยครับ เพราะท่ามกลางความสำเร็จอย่างมหาศาลในด้านธุรกิจ ความลับในการปรับปรุงพันธุ์กลับหลุดรอดออกไป เมื่อนักวิจัยนาม John Dole ค้นพบวิธีการต่อกิ่งแบบที่ตระกูล Ecke ใช้และได้ทำการตีพิมพ์ ทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันได้ พร้อมกับต้นพอยน์เซตเทียที่สวยพอๆ กัน ทำให้ฐานการผลิตของตระกูล Ecke ต้องย้ายกลับไปในแถบละตินอเมริกาซึ่งเป็นบ้านเกิดของพืชชนิดนี้ เพราะค่าแรงที่ถูกกว่า
ดังนั้นนอกจากลักษณะทางกายภาพ (โดยเฉพาะการออกดอกในช่วงฤดูหนาว) การถูกนำเข้าและกระจายโดยผู้เชี่ยวชาญ (ฝีมือท่านทูต Joel) และการตลาดของนักธุรกิจด้านไม้ประดับมือฉมัง (ตระกูล Ecke) ล้วนเป็นตัวแปรที่ทำให้พืชป่าที่มาไกลจากอเมริกากลาง กลายสภาพเป็นไม้บ้านประดับที่รู้จักกันในชื่อ ‘คริสต์มาส’ ในเวลาเพียงร้อยกว่าปีเท่านั้น
ในประเทศไทย พอยน์เซตเทียน่าจะถูกนำเข้ามาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามหลักฐานในส่วนนี้ไม่ค่อยชัดเจน เพราะไม้ประดับชนิดนี้ไม่ใช่พืชที่คนไทยนิยมปลูกกันทั่วไป นอกจากการใช้งานในเทศกาลคริสต์มาส เป็นสาเหตุหลักที่คนไทยเรียกพืชชนิดนี้อย่างติดปากกันว่า ‘คริสต์มาส’ (ซึ่งอาจจะตามชื่อ Christmas Star ในสังคมตะวันตก)
แหล่งผลิตในไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดเลย และมักจะปลูกกันเป็นฤดูกาล ทำกันโดยเกษตรกรรายย่อยในไทยเป็นหลัก แต่ฟาร์มหรือไร่ขนาดใหญ่ก็พอมีให้เห็น สิ่งที่เหมือนกันกับสหรัฐอเมริกานอกจากชื่อแล้วก็เห็นจะเป็นความนิยมในการใช้ในช่วงเทศกาลนี่แหละครับ โดยเฉพาะตามห้างร้านที่มีให้เห็นกันแทบทุกปีในฐานะเครื่องประดับประจำเทศกาลที่ขาดไม่ได้
- พิษที่ว่ามีจริงไหม?
นอกจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ต้นพอยน์เซตเทียยังได้รับชื่อเสียงในทางที่ไม่ค่อยดีนักจากข้อมูลที่ว่ามันเป็นพืชมีพิษอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์
เรื่องเล่าเกี่ยวกับความอันตรายของพอยน์เซตเทียมีให้เห็นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 มีเด็ก 2 ขวบเสียชีวิตจากการเผลอกินใบพอยน์เซตเทียเข้าไป แถมยังปรากฏว่ามีข้อมูลในหนังสือ Poisonous Plants of Hawaii (พืชมีพิษในฮาวาย) โดย H. R. Arnold ในปี ค.ศ. 1944 อีกด้วย
ข้อมูลเหล่านี้ไม่ค่อยส่งผลดีเท่าไหร่ต่อต้นพอยน์เซตเทีย ประกอบกับในปี ค.ศ. 1970 องค์การอาหารและยาสหรัฐ (United States Food and Drug Administration – FDA) ได้ลงบทความในจดหมายข่าวว่าใบพอยน์เซตเทียสามารถฆ่าเด็กได้ สร้างความตื่นตระหนกจนถึงขั้นมีการแบนต้นไม้ชนิดนี้ในสถานดูแลเด็กหรือตามโรงพยาบาล
แต่ความเป็นจริงก็คือ ต้นพอยน์เซตเทียนั้นไม่มีพิษ ไม่แม้แต่จะใกล้เคียงกับเรื่องเล่าที่มีอยู่ในกระแสสังคม ผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์กับหนูทดลองยืนยันว่าแม้จะรับประทานใบเข้าไปมากถึง 500 ใบ หรือน้ำยางกว่า 1 กิโลกรัม ก็ไม่แสดงถึงความเป็นพิษเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญคือไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเลยด้วยซ้ำว่ามีผู้เสียชีวิตจริงๆ จากการรับประทานใบพอยน์เซตเทียหรือสัมผัสกับน้ำยางของพืช
คาดว่าเรื่องเล่าหลอกๆ ของพิษจากพอยน์เซตเทียน่าจะเป็นเรื่องเล่าประเภท Urban Legend ที่มีที่มาจากสีของพืช และการที่พืชตระกูล Euphorbia มีน้ำยางที่มีความเป็นพิษสูงจริง ๆ อย่างไรก็ตาม หากเผลอรับประทานใบหรือน้ำยางเข้าไป อาจก่อให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย และระคายเคืองทางเดินอาหารได้ ตัวน้ำยางสามารถทำให้ผิวมีอาการแดงบวมจากการระคายเคืองได้เหมือนกัน ดังนั้น ถึงแม้จะไม่อันตรายต่อชีวิตทั้งคนและสัตว์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเอาพืชชนิดนี้เข้าปากแน่ ๆ
ส่วนในทางเคมี สาร Diterpenoid และ Steroids บางชนิดที่มีคุณสมบัติแบบ Saponin ซึ่งเป็นสารพิษที่พืชสังเคราะห์ได้ สารกลุ่มนี้จะสร้างความระคายเคืองให้กับเนื้อเยื่อ และแน่นอนว่าถูกพบได้ในน้ำยางของพืชหลายชนิด รวมทั้งพอยน์เซตเทียด้วยเช่นกัน
- ว่าด้วยวิธีการปลูกและลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เมื่อทราบกันแล้วว่าพอยน์เซตเทียนั้นปลอดภัยไร้พิษ หลายคนคงอยากจะหามาปลูกกัน สำหรับในไทยนั้นสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามตลาดนัดต้นไม้ โดยเฉพาะสวนจตุจักร แต่ด้วยพืชชนิดนี้เป็นไม้ประดับประจำฤดูกาล ส่วนใหญ่จะวางขายกันเฉพาะในช่วงเข้าฤดูหนาวเท่านั้น ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ราคาส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยแพง ประมาณหลักร้อย แต่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความสวยงามด้วย
ลักษณะของต้นพอยน์เซตเทียนั้น จริงๆ แล้วเป็นไม้พุ่ม แต่มักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม้ดอกประดับ ซึ่งก็ผิดอีกเพราะตัว ‘ดอก’ ที่เราเห็นนั้นแท้จริงแล้วเป็นใบประดับ (ซึ่งหลายคนจะเข้าใจผิดว่าเป็นกลีบดอก) ดอกจริงมีขนาดเล็กมาก ๆ และมักจะมีสีเหลืองอยู่ตรงกลางของยอดต้น ใบประดับของพอยน์เซตเทียจะเริ่มเปลี่ยนสี เมื่อดอกจริงเริ่มบาน ไล่จากส่วนยอดลงไป
นอกจากสีแดงที่พบเห็นทั่วไปแล้ว การปรับปรุงพันธุ์ยังทำให้เกิดสีใหม่ ๆ ตามมาตั้งแต่ ขาว ชมพู ส้ม ครีม เขียวอ่อน หรือแม้กระทั่งสีฟ้าหรือลายด่างก็มีให้เห็นเหมือนกัน ใบส่วนใหญ่มีขนาดยาวประมาณ 7-16 ซม. สีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นมีการกระตุ้นมาจากกระบวนการ Photoperiodism หรือช่วงแสง ดังนั้นแล้วช่วงเวลากลางวัน-กลางคืนจึงมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนสีของใบ ในกรณีนี้ต้นพอยน์เซตเทียต้องการความมืดประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวันเป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ และเมื่อเปลี่ยนสีแล้ว พืชจึงจะต้องการแสงแดดเต็มวันเพื่อรักษาความสดของสีเอาไว้
ที่น่าสนใจคือ ต้นพอยน์เซตเทียสามารถโตเต็มที่ได้สูงถึง 4 เมตร แต่ที่วางขายและปลูกกันมักจะมีขนาดแค่ประมาณ 30 ซม. เท่านั้น และถึงแม้ว่าต้นพอยน์เซตเทียจะวิวัฒนาการใบประดับมาให้มีความสวยงาม แต่การผสมเกสรตามธรรมชาติโดยแมลงกลับไม่ค่อยเป็นที่สังเกตสักกเท่าไหร่ เพราะในอุตสาหกรรมจะเน้นไปที่การขยายพันธุ์โดยการปักชำซะมากกว่า
ต้นพอยน์เซตเทียที่ดีควรจะมีทรงพุ่มที่สวยงามและไม่มีละอองเกสรตกหล่นตามใบ เพราะนั่นหมายความว่าดอกจริงใกล้จะเหี่ยวแล้ว ดังนั้นใบประดับก็จะเปลี่ยนสีกลับหรือเฉาไปไม่นานหลังจากนั้น
ตัวพืชต้องการแสงแดงจัด-รำไร ควรปลูกในอุณหภูมิประมาณ 13-15°C (แน่นอนว่าอากาศในไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเอื้อนัก) ดินที่ใช้ควรระบายน้ำได้ดี รดน้ำไม่ต้องบ่อยมาก โดยพยายามคงความชื้นในอากาศเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ควรให้ปุ๋ยไนโตรเจนต่ำ-โพแทสเซียมสูงเดือนละครั้ง ตัวต้นพอยน์เซตเทียเองมักจะติดต่อโรคเชื้อราได้ จึงควรระวังเรื่องนี้ไว้ด้วย
หากดูแลดี ต้นพอยน์เซตเทียสามารถที่จะมีชีวิตรอดไปจนถึงปีต่อไป เพื่ออกดอกและใบประดับใหม่อีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ระหว่างปีที่ไม่มีดอก ต้นพืชจะเจริญเติบโตตามปกติ เพียงแค่มีใบประดับน้อยลงมากหรือไม่มีเลย (ซึ่งในช่วงนี้ควรจะตัดแต่งกิ่งและประคับประคองต้นเอาไว้ให้ดี เพื่อเตรียมตัวสำหรับฤดูหนาว) หากเลี้ยงไว้หลายปีก็สามารถที่จะโตจนมีขนาดใหญ่ได้
ปัญหาคือสภาพอากาศเมืองไทยโดยเฉพาะในกทม. ไม่ค่อยเหมาะกับการเลี้ยงพืชชนิดนี้เอาไว้ในระยะยาวสักเท่าไหร่ เพระอุณหภูมิก็ปาไปประมาณ 25°C หรือสูงกว่านั้นในฤดูหนาว โดยส่วนตัว ผมพยายามเลี้ยงต้นพอยน์เซ็ตเทียในกระถางปกติได้ยาวสุดประมาณ 4-5 เดือนเท่านั้น เพราะแสงแดดและอุณหภูมิที่ร้อนจัดในหน้าร้อนทำให้พืชเหี่ยวและตายได้ง่ายมาก และถึงจะรอดไปจนถึงกลางปี ฤดูฝนก็สามารถทำลายล้างต้นพอยน์เซ็ตเทียได้ดีพอๆ กัน เว้นเสียแต่ว่าคุณจะมีพื้นที่ปลูกในภาคเหนือที่น่าจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของพืชชนิดนี้ได้พอสมควร
ด้วยความที่ยากต่อการนำกลับมาปลูกใหม่ พอยน์เซ็ตเทียจึงกลายเป็นพืชใช้แล้วทิ้งที่ไม่ต่างจากกระทงหรือโคมลอย เป็นการสร้างขยะปริมาณมหาศาลหลังวันคริสต์มาสไปโดยปริยาย เมื่อห้างร้านต่างๆ ใช้งานความสวยงามของพืชชนิดนี้จนหมดสิ้น ส่วนใหญ่ล้วนจบลงในกองขยะชีวภาพ ไม่ต่างกับกองของขวัญและอีกหลากหลายวัสดุตกแต่งในงานเทศกาลแห่งความสุข
- บทส่งท้าย
ผมขอยกต้นพอยน์เซ็ตเทียขึ้นแท่น ‘ต้นไม้ที่ถูกลืมมากที่สุด’ ในสังคมไทยต้นหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะถึงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันขนาดไหน น้อยคนจริง ๆ ที่จะรู้จักเรื่องราวของไม้ประดับชนิดนี้ ด้วยเหตุผลที่พืชชนิดนี้ปลูกได้ยากในพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยด้วย และต่างจากญาติห่าง ๆ ของมันในตระกูล Euphorbia อย่างโป๊ยเซียนที่คนไทยนิยมเล่นกันด้วยสาเหตุเพราะเป็นไม้มงคล
เรื่องเล่าของพอยน์เซ็ตเทีย ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมันในฐานะพืชเพียงอย่างเดียว แต่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความคิดของมนุษย์ในสังคม ในการประยุกต์เอาวัตถุจากธรรมชาติมาสร้างคุณค่าและอัตลักษณ์ให้เหมาะกับกิจกรรมที่เราต้องการ แถมด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดและความเป็นมาของมันในฐานะสินค้าและวัสดุตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาสก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ท้ายที่สุด พอยน์เซตเทียคือตัวแทนของงานเทศกาลได้อย่างชัดเจน ไม่เพียงแค่เพราะสีสันที่เข้ากัน แต่เพราะมันคอยย้ำเตือนถึงช่วงเวลาแห่งความสุขที่เมื่อมาถึงแล้วก็ย่อมจากไป ไม่ต่างจากไม้ประดับสีเขียวแดงที่คราคร่ำไปทั้งเมืองและหายลับไปพร้อม ๆ กับการเริ่มต้นใหม่ของปี…
ความเห็นถูกปิด